นิทานล้านนา เรื่อง เซี่ยงเมี่ยงแบ่งช้าง
บรรดาบุคคลที่เฉลียวฉลาดและสามารถแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้โดยคล่องแคล่วว่องไวใน วรรณคดีของไทยแล้ว ทุกคนต้องยกให้เซี่ยงเมี่ยง บางคนถึงเติมสร้อยให้ว่า เซี่ยงเมี่ยงเจ้าปัญญา
มีช้างพังเชือกหนึ่งของเจ้าผู้ครองประเทศข้างเคียง หลงทางพลัดเข้าในสวนของเซี่ยงเมี่ยง เซี่ยงเมี่ยงสั่งให้ข้าทาสของตนจับช้างนั้นไว้ เขานำเอาช้างพังตัวนั้นไปรับจ้างชักลากฟืน ตลอดจนบรรทุกของต่าง ๆ
ข่าวการได้ช้างของเซี่ยงเมี่ยงทราบไปถึงพระกรรณของเจ้าผู้ครองนคร พระองค์ให้เสนามาเรียกเซี่ยงเมี่ยงไป เมื่อพบก็ตรัสถามทันทีว่า
‘’ เออ เจ้าเซี่ยงเมี่ยง ข้าทราบว่าเจ้าจับช้างได้ใช่ไหม ”
เซี่ยงเมี่ยงกราบทูลว่า ‘’ เป็นความจริงพระพุทธเจ้าข้า ”
เจ้าผู้ครองนครตรัสว่า ‘’ ดังนั้นก็แล้ว ทรัพย์สินใด ๆ ที่พลัดเข้ามาในเขตขัณฑสีมาของข้าทรัพย์นั้นควรเป็นของข้าครึ่งหนึ่งเสมอ ‘’
เซี่ยงเมี่ยงกราบทูลว่า ‘’ เป็นความจริงพระพุทธเจ้าข้า หากพระองค์มีพระประสงค์ข้าพระพุทธเจ้าขอแบ่งให้พระองค์ครึ่งหนึ่ง
( เล่าโดย สมบุญ ศรีชลธาร ตลาดพานิชเจริญ อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ .)
เจ้าผู้ครองนครสรวลออกมาด้วยความพอพระทัย
‘’ เออ …. เจ้านี่รู้หลักกฏหมายและขนบธรรมเนียมของบ้านเมืองดีนี่ เจ้าจะแบ่งส่วนไหนให้เราล่ะ ” เจ้าผู้ครองนครถาม
เซี่ยง เมี่ยงนิ่งคิดสักครู่ก็กราบทูลว่า ‘’ ข้าพระพุทธเจ้าเป็นข้าแผ่นดินของพกระองค์ ดังนั้นข้าพระพุทธเจ้าจึงเปรียบเหมือนช้างเท้าหลัง พระองค์เป็นช้างเท้าหน้า ดังนั้น ข้าพระพุทธเจ้าขอมอบครึ่งส่วนหน้าให้พระองค์ ส่วนครึ่งหลังเป็นของข้าพระพุทธเจ้าเองพระพุทธเจ้าข้า ”
เจ้าผู้ครองนครตบพระหัตถ์ด้วยความพอพระทัย ‘’ ดีแล้ว ๆ เจ้าพูดถูกต้อง เจ้าคอยดูแลช้างให้ดีก็แล้วกัน ” เซี่ยงเมี่ยงก้มลงกราบรับบัญชาแล้วบังคมลากลับบ้าน
นับแต่วันนั้นมาเซี่ยงเมี่ยงยิ่งใช้งานหนักขึ้น อาหารต่าง ๆ ที่ช้างกินนั้นเขาให้ช้างกินดีที่สุดส่วนค่าอาหารนั้นให้ไปคิดเอาที่เจ้าผู้ ครองนคร เวลารับจ้างได้เงินทองมา เขาก็เก็บรายได้ทั้งหมดที่ใช้ช้างทำงานตอนกลางวันเป็นของตนเสียผู้เดียว
พอเย็นลงก็ปล่อยช้างให้เข้าไร่เข้าสวนกินกล้วยกินต้นหมาก ต้นมะพร้าวของชาวบ้าน ชาวบ้านจับเรียกค่าไถ่ เซี่ยงเมี่ยงก็ให้ไปเบิกเอาจากท้องพระคลัง เพราะส่วนหน้าของช้างเป็นผู้นำ ดังนั้นเจ้าผู้ครองนครจึงต้องเป็นผู้รับชดใช้ ส่วนของตนอยู่ข้างหลังต้องเดินตามเท้าหน้าไปจึงไม่ได้รับผิดชอบ
ต่อมาช้างนั้นได้คลอดลูก เซี่ยงเมี่ยงก็รับค่าจ้างทั้งหมดเพราะถือส่วนที่ออกแรงที่สุดคือส่วนข้างหลัง
เจ้าผู้ครองนครทราบเรื่องราวเห็นว่า ถ้าพระองค์ยังทรงขืนรับส่วนแบ่งเช่นนี้คงขาดทุนเรื่อยไป ดังนั้น พระองค์จึงตรัสบอกเซี่ยงเมี่ยงว่า
‘’ อ้ายเซี่ยงเมี่ยงเอ๋ย ช้างที่เจ้าแบ่งส่วนข้างหน้าให้ข้านั้นข้าขอคืนให้เจ้า ข้าไม่ขอรับเอาอีกต่อไปแล้ว ขอยกให้เจ้าทั้งหมด ”
เซี่ยงเมี่ยงก้มลงกราบ กล่าวคำขอบพระทัยที่พระองค์ทรงพระกรุณาเช่นนั้น
ข้อคิดที่ได้จากนิทานเรื่องนี้
นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า การใดจะได้จะเสียพึงพิจารณาให้รอบคอบ ไม่ควรด่วนตัดสินใจอะไรง่าย ๆ เพราะมักจะนำความเสียหายมาสู่ตนได้
เซี่ยงเมี่ยงเป็นคนฉลาดแกมโกง คนเยี่ยงนี้จะทำให้คนเดือดร้อนตลอดมา
คติ
‘’ อย่าใจเร็วด่วนได้ ”
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
นิทานล้านนา เรื่อง ใครโง่กว่าใคร
มีเรื่องเล่าต่อ ๆ กันมาว่า หมายปีมาแล้ว มีชายผู้หนึ่งชื่อ คง ทิดคงนี้เคยบวชเป็นพระภิกษุหลายพรรษา ต่อมาได้สึกและแต่งงานอยู่กินกับภรรยาจนมีบุตรคนหนึ่ง
ทิดคงและครอบครัวมีอาชีพในทางทำนา แกมีนาส่วนตัวอยู่แปลงหนึ่ง แกทำนาด้วยตนเองทุก ๆ ปี นานี้อยู่ห่างจากบ้านของแกราว ๆ ๔ – ๕ กิโลเมตร
เวลาเช้าทิดคงจะออกไปไถนาพร้อมกับควาย ครั้นตอนสายและกลางวันลูกสาวจะเป็นผู้นำอาหารไปส่งให้เสมอ วันหนึ่งตอนบ่าย ภรรยาไปตลาดซื้อปลามาตัวหนึ่ง เอาไปแกงส้มอร่อยมากนางคิดถึงสามี จึงขอร้องให้ลูกสาวช่วยนำอาหารมื้อนี้ไปส่งให้ด้วย ลูกสาวรับของออกเดินจากบ้านไป ขณะที่เดินทางฝ่าแดดที่กำลังร้อนจัด ประกอบกับวันนั้นบุตรสาวต้องทำงานที่บ้านแต่เช้าจนบ่ายเมื่อฝ่าแดดมารู้สึก เหน็ดเหนื่อยยิ่งนัก นางจึงหยุดพักวางหม้อข้าวหม้อแกงลง นั่งพักผ่อนใต้ร่มไม้คิดว่าพอหายเหนื่อยแล้วตนจึงค่อยเดินทางต่อไป พอดีมีลมโชยมา นางเลื่อนตัวเอนกายพิงกับต้นไม้ม่อยหลับไป ขณะที่หลับนางฝันว่า มีบุตรเศรษฐีมาชอบพอและสู่ขอนางกับพ่อแม่ ได้อยู่กินกันอย่างเป็นสุข จนกระทั่งมีครรภ์ ต่อจากนั้นไม่นานนักนางก็คลอดบุตรออกมาเป็นชาย อ้วนท้วนน่ารักต่อมาเด็กคนนั้นได้ล้มป่วยลงโดยกะทันหันถึงแความตาย นางร้องไห้ด้วยความเสียใจ ขณะที่ละเมอไข่วคว้าอยู่นั้น มือไปปัดเอาหม้อแกงหกเรื่อราดหมด เลยไม่มีอาหารไปสู่บิดา
เมื่อนางตื่นขึ้นจึงร้องไห้กลับบ้าน เล่าเรื่องราวต่าง ๆที่เกิดขึ้นให้แม่ฟัง แม่ได้ยินดังนั้นพลอยร้องไห้เสียใจด้วยพร้อมกับรำพันว่า ‘’ โธ่เอ๋ยหลานรัก เกิดมาไม่ทันไรมาด่วนตายเสียได้ ยายไม่ทันได้กอดได้อุ้ม อือ ๆ ๆ ‘’
พอดีขณะนั้นสามีหิวข้าวรีบเดินกลับบ้าน เมื่อมาถึงพบคนทั้งสองกำลังร้องไห้ด้วยความเสี่ายใจจึงไต่ถามเรื่องราวเมีย พอเห็นสามีมา รีบวิ่งเข้าไปหาพร้อมกับบอกว่า
‘’ ตาเอ๋ยตา หลานเกิดมาไม่ทันไรก็ตายเสียก่อน โธ่ไม่น่าเลยช่างบุญน้อยจริง ๆ น่าจะคอยให้ตายายอุ้มบ้างก็ไม่ได้ ทิดคงสงสัย ไต่ถามลูกสาวก็ทราบเรื่องราวทั้งหมด จึงพูดออกมาว่า
‘’ มันฝันนี่หว่า มันจริงเมื่อไร เอ็งทำไมจึงโง่เขลาเช่นนี้ ‘’ เมื่อเห็นว่าภรรยาและลูกสาวของตนโง่เขลายิ่งนัก แกจึงตัดสินใจขายควาย รวบรวมเงินทองติดตัวออกเดินทางลงเรือไปยังเมืองอื่น ๆ ขณะที่พายเรือไปตามแม่น้ำนั้น เขาพบชายคนหนึ่งนั่งร้องไห้อยู่จึงแวะเข้าไปถามว่า
‘’ ท่านร้องไห้ทำไม ‘’
( เล่าโดย สมชัย ธนัญชัย โรงเรียนวัดดอนจั๋น อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ . )
ชายผู้นั้นบอกว่า ‘’ ข้าพเจ้าเอามือออกจากไหเกลือไม่ได้ ‘’
ทิดคงมองเห็นชายนั้นล้วงมือลงไปในไหเกลือและกำเกลือจนเต็มกำมือปากไหนั้นแคบ เขาจึงเอามือออกไม่ได้ ทิดคงหัวเราะ บอกให้เขาปล่อยเกลือเสีย มือก็จะออกได้
ชายผู้นั้นทำตาม จึงเอามือออกไปและกล่าวคำขอบใจ พร้อมกับมอบเป็ดให้เป็นรางวัลตอบแทนหนึ่งตัว ทิดคงพายเรือต่อไป เขาพบคนหมู่หนึ่งกำลังเอาเชือกผูกหัวเสาอยู่ข้างฝ่าย ต่างฉุดดึงกันไปคนละทาง
ทิดคงรู้สึกสงสัยแวะเรือเขาไป ร้องถามว่า ‘’ พวกท่านทำอะไรนั่น ‘’ เสามันสั้นไป เราพยายามจะดึงมันให้ยาวอีกสักหน่อย ‘’
ทิดคงบอกว่า ‘’ ท่านเอ๋ย เสาดึงมันไม่ยืดออกได้หรอก ท่านต้องการจะให้เสายาวขึ้น ก็หาเสามาต่อเข้าซิ ‘’ พวกนั้นปฏิบัติตามและดีใจมากที่เสายาวออกมาตามที่ต้องการ แต่ละคนได้ชมเชยต่าง ๆนานาว่า ‘’ ท่านช่างมีปัญญาแท้ ๆ ‘’ แล้วต่างก็หาไก่มามอบให้เป็นรางวัล
ทิดคงพายเรือต่อไปจนกระทั่งพบคนอีกกลุ่มหนึ่ง เขาสร้างตึกก่ออิฐถือปูน เนื่องจากไม่มีหน้าต่าง ดังนั้นภายในห้องจึงมืด พวกนั้นต่างช่วยกันเอาตะกร้า กระบุง หีบ และถังต่าง ๆ ออกวางกลางแดด
พอสักครู่ก็ยกเข้าไปเทในห้องเพื่อให้ห้องสว่างขึ้น แม้ว่าเขาจะขนสักเท่าไรห้องนั้นก็ไม่สว่างขึ้น ทิดคงรู้สึกแปลกใจ จึงร้องถามออกไปว่า ‘’ ท่านทำอะไร ขนกันไม่รู้จักหมดจักสิ้น ‘’
พวกนั้นบอกว่า ‘’ พวกเราขนแดดไปเทในห้องเพื่อให้มันสว่างขึ้น ‘’ ทิดคงหัวเราะ พร้อมกับบอกว่า ‘’ สหายเอ๋ย ท่านอยากให้ห้องสว่าง ก็เจาะกำแพงหน้าต่างซิ ‘’
พอพูดจบ ทิดคงก็ขึ้นจากเรือไปช่วยทำหน้าต่างให้ ตึกที่มืดกลับสว่างขึ้นทันที พวกนั้นพากันไชโยโห่ร้องด้วยความยินดี และกล่าวคำชมเชยว่า ‘’ ท่านช่างมีปัญญาจริง ๆ ‘’
ทุกๆคนต่างรวบรวมรางวัลมอบให้เป็นที่ระลึก ทิดคงเริ่มรู้สึกว่าที่ตนคิดว่าภรรยาและบุตรของตนโง่นั้น พวกที่ตนมาพบนี้ยิ่งโง่กว่าเสียอีก ทางที่ดีควรกลับไปคืนดีกับลูกเมียเสียดีกว่า หากลูกเมียผิดพลาดไป ตนยังพอจะแนะนำสั่งสอนให้เป็นคนดีได้ ทิดคงจึงกลับยังบ้านอยู่กันกับภรรยาและบุตรอย่างเป็นสุขต่อไป
ข้อคิดที่ได้จากนิทานเรื่องนี้
นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า อันคนโง่นั้นมีอยู่ทั่วไป อย่าคิดว่ามีแต่คนในครอบครัวเราเท่านั้นทางแก้ปัญญามิใช่จะหนีปัญหา พึงใช้ปัญญาแก้ไข เช่น อบรม สั่งสอน ชี้แนะแนวทางให้
คติ
‘’ เหนือฟ้ายังมีฟ้า ‘’
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
นิทานล้านนา เรื่อง ควายลุงคำ
ลุงคำอยู่บ้านนอก ไม่เคยไปติดต่อธุระการงานกับทางอำเภอเลย ดังนั้นเรื่องราวหรือวิธีปฏิบัติที่ทางอำเภอได้กระทำไปอย่างไรแกจึงไม่เข้า ใจ แต่แก่เป็นคนที่สนใจ เอาใจใส่สอบถามเขาอยู่เสมอ
ครั้งหนึ่ง ลุงคำมีกิจธุระจะเป็นต้องไปติดต่อกับทางอำเภอ เนื่องจากแกมีควายสองตัว เมื่อควายโตแล้วจะต้องนำไปทำตั๋วพิมพ์รูปพรรณ เพื่อแสดงกรรมสิทธิ์เป็นเจ้าของ
แกตื่นแต่เช้า ห่อข้าวและจูงควายทั้งสองไปยังที่ทำการอำเภอ เพราะกรนำควายไปแต่เช้าความไม่เหนื่อย ควายทั้งคู่นี้ ตัวหนึ่งเขาบี้ ( คือเขาเกกเกตกลงข้างล่าง ) เป็นตัวผู้ อีกตัวหนึ่งเป็นตัวเมีย เขากิ ( เขาสั้นไม่โง้ง )
เมื่อถึงเวลา เจ้าหน้าที่ทางอำเภอก็มาตรวจขวัญและกรอกลงในแบบพิมพ์ เสร็จแล้วจึงมอบตัวพิมพ์รูปพรรณนั้นให้แก่ลุงคำไป ลุงคำรับตั๋วพิมพ์มายืนอ่านดูหลายเที่ยว
ป้ามาเมียลุงคำยืนดูอยู่จึงขอดูตั๋วพิมพ์นั้นบ้าง พอดูรูปในตั๋วพิมพ์กับดูควายของแกแล้ว ป้ามาร้องออกมาดัง ๆ ว่า
‘’ ป้อละอ่อนเหย มันท่าจะบ่าใจ้ควายเฮาเหียแล้ว ” ( พ่ออีหนู มันคงจะไม่ใช่ควายของเราเสียแล้ว )
ลุงคำสงสัยรีบถามออกไปว่า ‘’ มันเป๋นจะใดแม่ละอ่อน ” ( มันเป็นอย่างไรรึแม่อีหนู )
ลุงคำสงสัยรีบถามออกไปว่า ‘’ มันเป๋นจะใดแม่ละอ่อน ” ( มันเป็นอย่างไรรึแม่อีหนู )
ป้ามา รีบบอก ‘’ ควายเฮาเขาบี้กับเขากิลู่ ควายในฮูปเขาว้องตึงมวน ” ( ควายของเราเขาเกกกับเขาสั้นนี่ ดูควายในรูปซิ เขาโง้งทั้งสองตัว )
ลุงคำ พิจารณาดูรีบตอบว่า ‘’ เอ่อ แต้ ๆ ข้าจะไปหาเสมียนก่อน ‘’ ( เออ จริง ๆ ซิ ฉันจะต้องไปถามเจ้าหน้าที่ก่อน แกรีบเดินไปหาเจ้าหน้าที่ทันที
พอไปถึงแกรีบบอกพนักงานตั๋วพิมพ์รูปพรรณ ครั้นจะออกเป็นภาษาพื้นเมืองก็เกรงว่าเสมียนจะไม่เข้าใจ จึงพูดภาษากลางว่า
‘’ คุณ คุณ ซวาย ( ควาย ) ของผมเขาบี้กะเขากิ แต่นี่มันเขาว้องนี่ครับ ”
เสมียนเมื่อได้ยินาคำตอบบอกดังนั้น จึงค่อย ๆ กระซิบว่า ‘’ ลุง เบา ๆ หน่อยอย่าพูดดัง คนอื่นจะได้ยิน ‘’
ลุงคำคิดว่าตนได้ทีจึงตอบดัง ๆ ว่า
‘’ จะเบาจะใด ควายเขากิเป็นเขาว้อง มันตึงเบาบ่าได้ มันบ่าใจ่ลู่ ‘’ ( จะให้พูดเบา ๆได้ อย่างไรควายเขาสั้นมาทำตั๋วเป็นเขาโง้งนี่ ไม่ย่อมละเพราะมันไม่ใช่นี่ )
ข้อคิดที่ได้จากนิทานเรื่องนี้
จากเนื้อเรื่อง เป็นเรื่องที่เล่าสู่กันฟังเพื่อให้เกิดความสนุกสนานเพลิดเพลิน
คติ
‘’ หลวกชื่อใบ้ชี่ ‘’
( เล่าโดย นายเสา เขียวมั่ง อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ .)
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
http://นิทานพื้นบ้าน.whitemedia.org/22/#more-56
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น